ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 ศาลเจ้า 9 วัด Plus 4 เส้นทางท่องเที่ยวเมืองสุราษฎร์ธานี

5shrines-9temples-plus4-surat-thani

ขอแนะนำกิจกรรมท่องเที่ยวเมืองสุราษฎร์ธานี ไหว้สิ่งศักสิทธิ์ 5 ศาลเจ้า 9 วัด Plus 4 เสริมโชคชะตาราศี ไหว้เจ้าขอโชคลาภให้ประสบความสำเร็จ สมหวังในทุกสิ่งที่ปรารถนา เสริมสร้างกำลังใจเพิ่มพลังชีวิต และเป็นการแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวของเมืองสุราษฎร์ธานี โดยความร่วมมือของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุราษฎร์ธานี องค์การบริการส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวสุราษฎร์ธานี สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านดอน ลองชิมอาหารเมืองคนดี เสริมโชคชะตาราศี ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน 5 ศาลเจ้า 9 วัด Plus 4 โดยจุดเริ่มต้นจากศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดเป็นที่แรก แล้วไปต่อที่วัดไตรธรรมาราม กราบพระโพธิพุทธคยานุสรณ์ เสมือนกราบพระพุทธเจ้าตอนตรัสรู้ ณ ประเทศอินเดีย ต่อที่วัดธรรมบูชากราบพระประธานองค์เดียวที่มีพระปรมาภิไธย ย่อ ภปร. แล้วไปที่ท่าเรือนอนไปเกาะสมุยไหว้เทพเจ้าปึงเถ่ากงที่เก่าแก่ แล้วออกไปไหว้หลวงพ่อฉุยแห่งวัดไทร ชมศาลาการเปรียญไม้ 2 ชั้น ต่อด้วยวัดกลางกราบสังขารพระมหายุตในโลงแก้ว พร้อมชมความงามของซุ้มประตู ปิยสุวรรณรังษี แล้วไปชมรังนกนางแอ่นพร้อมไหว้เจ้าแม่ทับทิม ที่ศาลเจ้าไหหลำ

ต่อจากนั้นไปไหว้เทพเจ้าแลฮู้อ๋องเอียกง ที่ตำหนักอ๋องฮกเกี้ยน แล้วไปไหว้พระอรหันต์จี้กงของมูลนิธิส่งเสริมคุณธรรม “เต็กก่า จีซูเกาะ” สุราษฎร์ธานี  แวะไปไหว้หลวงพ่อแดงและองค์พระโยก ที่วัดพระโยค แล้วไปไหว้หลวงพ่อพัฒน์พร้อมกับประธานทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์ที่วัดพัฒนาราม

แล้วมากราบขอพรจากพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่แกะสลักจากหินแกรนิตขาวทั้งองค์ ณ มูลนิธิมุทิตาจิตธรรมสถาน แล้วไปกราบหลวงปู่ไต่ฮงกงที่มูลนิธิกุศลศรัทธา ต่อไปยังวัดสามัคคีไหว้พระประธานในโบสถ์สองชั้นที่ใช้ศิลปะแบบไทยประยุกต์ ที่สวยสดงดงาม ต่อไปกราบเกจิอาจารย์ หลวงพ่อกล่อมแห่งวัดโพธาวาส แล้วไปกราบพระประธานโลสถ์สีขาวทั้งหลังแห่งเดียวของเทศบาลสุราษฎร์ธานีที่วัดกลางใหม่ หลังจากนั้นไปชมทิวทัศน์ของเมืองบ้านดอนบนยอดเขาท่าเพชร สักการะพระธาตุศรีสุราษฎร์ พระธาตุที่ชาวสุราษฎร์ธานีร่วมกันก่อสร้างเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แล้วชวนกันไปกราบเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ ปากน้ำบ้านดอน ก่อนกลับแวะทานอาหารทะเลขึ้นชื่อที่ปากน้ำบ้านดอน สุราษฎร์ธานี

ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 ศาลเจ้า 9 วัด Plus 4 เมืองสุราษฎร์ธานี

1 ศาลเจ้าปึงเถ่ากง

1ศาลเจ้าปึงเถ่ากง

ศาลเจ้าปึงเถ่ากง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าศาลเจ้าแต้จิ๋ว มีประวัติโยงมาจากช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในสมัยนั้นเป็นผู้ร่วมก่อสร้าง สันนิษฐานน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 230 ปี

ภายในมีองค์เทพเจ้าปึงเถ่ากง เป็นองค์ประธาน พร้อมด้วย เทพเจ้าปึงเถ่าม่า เทพเจ้ากวนอู เจ้าแม่ทับทิม พระแม่ธรณี องค์ตั๋วแป๊ะกงและยี่แป๊ะกง ด้านหน้าจะมีทีตี่แปบ้อ หรือเสาทีกงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ด้านหน้าของศาลเจ้า

หลายคนที่ประสบความสำเร็จมักจะมาแก้บนด้วยประทัด งิ้ว สุราหรือหนังตะลุง

โดยจะมีงานประจำปี 2 ครั้ง คือ ช่วงเทศกาลง่วนเซียว หรือช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน 15 วัน และเทศกาลตงชิว หรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ โดยในวันไหว้พระจันทร์นี้ยังเป็นวันเกิดขององค์เทพเจ้าปึงเถ่ากงด้วย

หากมาในช่วงเย็นใกล้กับศาลเจ้าแห่งนี้จะมีตลาดยามค่ำ มีนักท่องเที่ยวแวะหาอะไรกินรองท้องก่อนจะเดินทางไปกับเรือนอนเพื่อไปเกาะสมุย เกาะเต่า และเกาะพงัน

กิจกรรมห้ามพลาด : การเสี่ยงเซียมซี ปั้วป้วย และฝากดวงสะเดาะเคราะห์

ที่ตั้ง : ถนนบ้านดอนตรงข้ามท่าเรือนอนไปเกาะสมุย

2 ศาลเจ้าไหหลำ

2ศาลเจ้าไหหลำบ้านดอน

ศาลเจ้าไหหลำ บ้านดอน เป็นศาลเจ้าที่ชาวจีนเชื้อสายไหหลำ ได้ร่วมกันก่อสร้างมาตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มมาตั้งหลักปักฐานในบ้านดอน ภายในศาลมีองค์เจ้าแม่ทับทิม (ฮินฮ้าว, เทียนโหวเซี้ยบ้อ, หม่าโจ้ว, ม่าโจ้วโป๋ แล้วแต่สำเนียงจีนที่ออกเสียง) เป็นองค์ประธานของศาลเจ้าไหหลำ บ้านดอน พร้อมด้วยเทพเจ้ากวนอู พระโพธิสัตว์กวนอิม เทพเจ้าเฮียดีก๋ง ประทับอยู่บนแท่นสักการะภายในศาล

นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำภายในศาลเจ้าแล้ว ยังมีนกนางแอ่น มาทำรังอยู่ใต้หลังคาของศาลเจ้าไหหลำ เป็นที่สะดุดตาของผู้คนที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้คนที่มาพบเห็น เป็นการรวบรวมกันของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติของนกอย่างลงตัว

ศาลเจ้าไหหลำอยู่ใกล้กับท่าเทียบเรือประมงหรือที่เรียกว่าสะพานปลา ช่วงเช้าชมวิถีชีวิตชาวประมง และเลือกซื้อสินค้าอาหารพื้นบ้านที่ตลาดสด กอบกาญจน์ตลาดยามเช้าที่เก่าแก่ของบ้านดอนที่อยู่ใกล้ๆ กัน

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้เจ้าแม่ทับทิมและชมรังนกนางแอ่นธรรมชาติ

ที่ตั้ง : ถนนต้นโพธิ์ใกล้กับท่าเทียบเรือประมง

3 ศาลเจ้าฮกเกี้ยน

3ศาลเจ้าฮกเกี้ยน

ตำหนักอ๋องฮกเกี้ยน หรือ ศาลเจ้าฮกเกี้ยน เป็นศาลเจ้าที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้ร่วมกันก่อสร้างมาตั้งแต่ครั้งอดีตภายในศาลมีองค์เทพเจ้าแลฮู่อ๋องเอียกง ที่ได้อัญเชิญมากจากเมืองเอเหมิง มณฑลฮกเกี้ยนจำนวน 3 องค์ (3 พี่น้อง) เป็นองค์ประธานและต่อมาได้อัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมและเจ้าแม่ทับทิม มาประดิษฐานเพิ่มเติม

ต่อมา พ.ศ. 2550 ได้มีการบูรณะศาลเจ้าใหม่พร้อมทั้งมีการตั้งชื่อศาลตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า “ซุน ฮก เก็ง” แปลว่า “ตำหนักแห่งโชคลาภและความร่มเย็น” พร้อมกันนี้ได้เปลี่ยนชื่อภาษาไทยที่หน้าศาลจากเดิมชื่อ “ศาลเจ้าฮกเกี้ยนสุราษฎร์ธานี” เป็น ตำหนักอ๋องฮกเกี้ยนบ้านดอน” ดั่งเช่นปัจจุบัน ด้านหน้าศาลจะมีเสามังกรพ่นน้ำ ที่เปรียบเสมือนน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์จากมังกรด้วย

เยื้อง ๆ กับตำหนักอ๋องฮกเกี้ยนแห่งนี้จะมีร้าน ยกเข่ง ร้านโล้งโต้งขึ้นชื่อของบ้านดอน ที่มักจะมีผู้คนแวะเวียนกันมาอย่างเนืองแน่น

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้เทพเจ้าแลฮู้อ๋องเอียกง รับน้ำมนต์จากเสามังกร

ที่ตั้ง : ถนนต้นโพธิ์ตรงข้ามศาลเข้าไหหลำ

4 ศาลเจ้าจี้กง

4ศาลเจ้าจี้กง

ศาลเจ้าจี้กง หรือ มูลนิธิส่งเสริมคุณธรรม “เต็กก่า จีซูเกาะ” สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดพระโยค เป็นสมาชิกลำดับที่ 61 ของสมาคมสหมิตรการกุศล “เต็กก่า” แห่งประเทศไทย โดยประกอบพิธีเปิดศาลครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2543

ภายในเทวสถานแห่งนี้ ประดิษฐานพระอรหันต์จี้กง เป็นองค์ประธานอยู่บน ชั้น 2 ของมูลนิธิฯ พร้อมด้วยเหล่าเทวาอาจารย์ พระเถระไต่ฮงกง พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้เคารพสักการะ

ด้านข้างจะมีศาลเทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือเทพเจ้าไฉ่ซิ้งเอี้ยประดิษฐานเพื่อให้กราบไว้ขอโชคลาภด้วย

ออกจากศาลเจ้าจี้กงแล้วลองแวะทานก๋วยเตี๋ยวโบราณ สท.ทะเล ที่เปิดขายกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อที่มาตั้งรกรกที่บ้านดอน

กิจกรรมห้ามพลาด :  ไหว้พระอรหันต์จี้กง และเทพเจ้าแห่งโชคลาภ

ที่ตั้ง : ถนนพุนพินตรงข้ามวัดพระโยค

5 ศาลหลวงปู่ไต่ฮงกง

5ศาลหลวงปู่ไต่ฮงกง

หลวงปู่ไต่ฮงกง ท่านเป็นคนตระกูลลิ้ม เกิดที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง สมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่ออายุ 54 ปี ได้บวชเป็นพรพุทธศาสนาที่มณฑลฮกเกี้ยน

มูลนิธิกุศลศรัทธาสุราษฎร์ธานี ได้มีการอัญเชิญหลวงปู่ไต่ฮงกงมาเป็นองค์ประธาน ตั้งแต่ในอดีตที่ก่อตั้งโดยชาวจีนโพ้นทะเลในบ้านดอนที่รวมกันเป็นชมรมอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เพื่อช่วยเหลือชาวจีนโพ้นทะเลและประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อและมีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2507

นอกจากนี้ที่มูลนิธิกุศลศรัทธา ยังมีองค์เทพเจ้าต่างๆ และเทพเจ้าไท่สวยเอี้ย สำหรับฝากดวง แก้ปีชง แห่งเดียวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ผู้คนหลั่งไหลไปฝากดวงแก้ปีชงอย่างไม่ขาดสายด้วย

ออกจากมูลนิธิแห่งนี้แล้วตรงไปที่ซอยนกเขาถนนตรงด้านหน้าของมูลนิธิ จะมีร้านก๋วยเตี๋ยวเกี๊ยวปลาไว้ให้ลิ้มชิมรสกันด้วย

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้หลวงปู่ไต่ฮงกง และฝากดวงแก้ปีชง

ที่ตั้ง : ถนนภักดีอนุสรณ์ ใกล้เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี

6 วัดไตรธรรมาราม

6วัดไตรธรรมาราม

วัดไตรธรรมาราม หรือวัดสามหม้าย พระอารามหลวง เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินมา ครั้งที่เสด็จประพาสหัวเมืองกาญจนดิษฐ ทางเรือพระที่นั่ง จากเกาะเส็ด ปากอ่าวบ้านดอน เสด็จมายังพลับพลาที่ประทับ ณ บ้านดอน อันเป็นที่ตั้งของหัวเมืองกาญจนดิษฐ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2432

พระอุโบสถวัดอี้ จะมีการประดับรายนามพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ไว้เหนือประตูและหน้าต่างรอบพระอุโบสถ และมีรูปพระพุทธรูป ปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ นามว่า “พระโพธิพุทธคยานุสรณ์” เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ใต้ต้นมหาโพธิ์ เพื่อระลึกถึงตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ อยู่ด้านหน้าของพระอุโบสถภายในมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย เพื่อนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ผู้กราบสักการะ

ออกจากวัดไตรธรรมารามแล้วยังแวะไปเลือกซื้อสินค้าทางใต้บนตลาดสดเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีได้อีกด้วย

กิจกรรมห้ามพลาด : กราบ “พระโพธิพุทธคยานุสรณ์”

ที่ตั้ง : ถนนตลาดใหม่ ใกล้กับศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี

7 วัดธรรมบูชา

7 วัดธรรมบูชา

วัดธรรมบูชา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ แห่งแรกของเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อก่อนเรียกว่า “ที่พักสงฆ์ ดอนเลียบ” และขอเปลี่ยนชื่อต่อเสนาบดีมหาดไทย เป็น “วัดธรรมยุติการาม”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “วัดธรรมบูชา” และได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 พร้อมกับวัดพระบรมธาตุไชยา

ภายในพระอุโบสถที่สร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2525 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธานองค์เดียวในเมืองสุราษฎร์ธานีที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติ ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภปร. ประดิษฐานไว้ที่ฐานชุกชีและหน้าบันของอุโบสถเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่วัดธรรมบูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ออกจากวัดนี้แล้วสามารถแวะชิมก๋วยเตี๋ยวร้านเจนชวนชิม ร้านที่มีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสายตลอดเวลา

กิจกรรมห้ามพลาด : กราบขอพรพระประธานเสริมความเป็นมงคลในชีวิต

ที่ตั้ง : ถนนตลาดใหม่ ใกล้โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา

8 วัดไทร

8วัดไทร

วัดไทร สันนิษฐานว่าน่าจะก่อสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ระหว่าง พ.ศ. 1300 ถึง 1800 โดยเชื่อมโยงกับวัดกลาง (เก่า) และวัดพระโยคที่อยู่ใกล้เคียงกัน

มาวัดนี้หลวงพ่อฉุย (พระนุสรณ์ ธรรมศาสน์) อดีตเจ้าอาวาสแล้ว ไปชมศาลาการเปรียญไม้ 2 ชั้น ทั้งหลัง เก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 เคยใช้เป็นสถานบันการศึกษาและสนามสอบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองสาขาสุราษฎร์ธานี

ที่สำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ยึดเอาศาลาการเปรียญวัดไทรแห่งนี้ เป็นฐานบัญชาการรบในครั้งนั้นด้วย

รอบกำแพงวัดบริเวณถนนตีเหล็กในช่วงเย็นของทุกวัน จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านค้าขายอาหารกันมากมาย เรียกติดปากว่า “ตลาดศาลเจ้า บ้านดอน”

กิจกรรมห้ามพลาด : ขอพรหลวงพ่อฉุยและชมศาลาการเปรียญไม้เก่าแก่

ที่ตั้ง : ถนนบ้านดอนติดกับตลาดศาลเจ้า บ้านดอน

9 วัดกลาง

9วัดกลาง

วัดกลาง เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสหัวเมืองกาญจนดิษฐ ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2432 เสด็จทางเรือมายังวัดกลาง มีพระครูสุวรรณรังษี เจ้าอาวาสในขณะนั้น นั่งเรือไปรับเสด็จ ณ กลางแม่น้ำหน้าวัด ก่อนที่จะเสด็จมายังวัดกลางและใต้ พระราชทานปัจจัยในการบูรณะเสนาสนะเป็นเงิน 40 บาท ตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 หน้า 719

อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 5 พระมหายุติ ธมมวิริโย หลังจากที่ท่านได้มรณภาพลง สังขารของท่านกลับไม่น่าเปื่อย จึงมีการเก็บรักษาสังขารของท่านกลับไว้ในโลงแก้ว บนมณฑปเพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้กราบสักการะบูชา

ที่สำคัญวัดกลาง ยังมีการสร้างซุ้มประตู “ ปิยสุวรรณรังษี” เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ 5 อย่างสวยงามอีกด้วย

หากมาวัดแห่งนี้ในวันเสาร์จะมี “ถนนคนเดิน บ้านดอน” ให้เดินเลือกซื้อสินค้าและชมพระอาทิตย์ตกดินริมแม่น้ำตาปีอีกด้วย

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้พระมหายุติขอให้อายุมั่นขวัญยืน

ที่ตั้ง : ถนนศรีตาปี ริมเขื่อนสะพานนริศ

10 วัดพระโยค

10วัดพระโยค

วัดพระโยค ตำนานองค์พระโยคได้ วัดพระโยค เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดสระแก้ว เนื่องจากมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่บริเวณวัด เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งในเมืองสุราษฎร์ธานี สร้างใกล้เคียงกับวัดไทรและวัดกลาง ราว พ.ศ. 1300 ถึง พ.ศ. 1800

มีตำนานของ องค์พระโยก ซึ่งเป็นองค์พระประธานในโบสถ์ของวัดว่าองค์พระประธานดังกล่าวสามารถโยกเยกไปมาได้ จึงเป็นที่ของชื่อวัดพระโยก ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระโยค แบบในปัจจุบัน

วัดพระโยค เป็นวัดที่หลวงพ่อพัฒน์ท่านได้อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2430 ด้วย

มาวัดนี้ไปกราบสักการะองค์พระโยก พระประธานในโบสถ์ และหลวงพ่อแดง อดีตเจ้าอาวาสบนมณฑปผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา

ออกจากวัดนี้ลองไปชิมข้าวผัดปูของ อรรถ เยาวราช ข้าวผัดปูและกระเพาะปลาน้ำแดงสูตรเยาวราชที่อยู่ด้านข้างวัดด้วย

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้องค์พระโยกขอพรให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง

ที่ตั้ง : ถนนศรีพุนพินตรงข้ามศาลเจ้าจี้กง

11 วัดพัฒนาราม

11วัดพัฒนาราม

วัดพัฒนาราม พระอารามหลวง หรือ วัดใหม่ มีหลวงพ่อพัฒน์ นารโท เป็นผู้ร้างวัดและเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านบวชที่วัดพระโยค แล้วจึงออกมาปฏิบัติธรรมบริเวณที่ดินป่าช้าของวัดพระโยค แล้วจึงมีการก่อร่างสร้างวัดใหม่แห่งนี้ด้วยเงินเพียง 6 บาท ปี พ.ศ. 2439 สร้างความศรัทธาให้แก่ศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2485 ท่านมรณภาพลงในท่านั่งสมาธิ มีการบรรจุศพของท่านเก็บไว้จนปี พ.ศ. 2491 ได้เปิดโลงที่บรรจุสังขารท่านปรากฏว่า สังขารไม่เน่าเปื่อย แม้ว่าท่านมรณภาพลงไปหลายปีแล้วก็ตาม

พระอุโบสถของวัดใหม่นี้เป็นหลังเดียวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีรูปยักษ์และแขกยามยืนเฝ้าประตูโบสถ์อย่างที่เห็น องค์พระประธานของโบสถ์หลังนี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ฉลองพระองค์ทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์หรือหลวงพ่อหน้าโรง

ออกจากวัดใหม่แล้วอย่าลืมแวะทานขนมถังแตก ตาทัย เจ้าอร่อยที่ต้องเข้าคิวซื้อขายมาตั้งแต่ดั้งเดิมกันเลย

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้หลวงพ่อพัฒน์และไหว้พระประธานในโบสถ์

ที่ตั้ง : ถนนหน้าเมืองตรงข้ามกับรพ. อบจ. จังหวัดสุราษฎร์ธานี

12 วัดสามัคคีผดุงพันธ์

12วัดสามัคคีผดุงพันธ์

วัดสามัคคีผดุงพันธ์ วัดสามัคคี ก่อตั้งโดยพระสุธรรมาธิบดี (อาจารย์แสง ชุตินธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา โดยได้รับบริจาคที่ดินจากนายผดุง – นางเสี้ยน วัชรพงษ์ ในปี พ.ศ. 2507 ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในปี พ.ศ. 2513

ครั้งพระครูสุนทรศาสนคุณ เป็นเจ้าอาวาส จึงได้ขอพระราชทานวิสุงคมสีมาและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2547

โบสถ์วัดสามัคคีได้เริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เป็นโบสถ์ 2 ชั้น แห่งแรกในเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยชั้นบนมีวิหารซุ้มจัตุรมุขหลังคาประสาทประสามเรือนยอด จำนวน 4 หลัง ชั้นล่างเป็นห้องโถงสำหรับประกอบกิจกรรมต่างๆ

ด้านหน้าบันของโบสถ์ได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” มาประดับไว้

โบสถ์หลังนี้มีความสวยสดงดงามด้วยศิลปะทางสถาปัตกรรมไทยประยุกต์ ควรค่าแก่การดำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมสืบไป

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้พระประธานในโบสถ์ให้สมปรารถนา

ที่ตั้ง : ถนนชนเกษมเยื้องโรงเรียนมานิตานุเคราะห์

13 วัดโพธาวาส

13วัดโพธาวาส

วัดโพธาวาส หรือวัดหลวงพ่อกล่อม ตั้งอยู่ติดกับคลองมะขามเตี้ย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2337

ในสมัยที่พระครูวิธูรธรรมสาสน์ (หลวงพ่อกล่อม อานันโท) เจ้าอาวาส รูปที่ 2 ด้วยความเป็นพระนักพัฒนาได้ทำนุบำรุงและปฏิสังขรณ์วัดให้เจริญรุ่งเรืองอยู่เสมอ ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า “พ่อท่านกล่อม”

พ่อหลวงกล่อม เป็นพระเกจิผู้ทรงวิทยาอาคม และมีชื่อเสียงโด่งดังมากเรื่องเรือแข่ง สมัยนั้นเรือของวัดโพธาวาสไม่มีคำว่าพ่ายแพ้ต่อผู้ใด

นอกจากนี้ ท่านยังสามารถบริกรรมคาถาสะกดจระเข้ ซึ่งชุกชุมยิ่งนักในบริเวณลำน้ำมะขามเตี้ยและแม่น้ำตาปี ได้เช่นเดียวกับพ่อท่านคล้าย แห่งวัดสวนขัน ร่ำลือกันว่าคาถาสะกดจระเข้ที่ว่ายน้ำผ่านหน้าวัดต้องโผล่หัวผ่านไป และปากก็ไม่สามารถอ้าขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น วัตถุมงคลของท่านจึงเป็นที่นิยมของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาชาวสุราษฎร์ธานีเป็นอย่างสูงยิ่งมาจนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมห้ามพลาด : ขอพรหลวงพ่อกล่อมให้ปัดเป่าเภทภัยในชะตาชีวิต

ที่ตั้ง : ถนนวัดโพธิ์ – บางใหญ่

14 วัดกลางใหม่

14วัดกลางใหม่

วัดกลางใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2511 มีพระครูปริยัติคุณาวุธ เป็นเจ้าอาวาส

นอกจากเป็นสถานที่ประกอบกิจสงฆ์และศูนย์รวมของชาวบ้าน ยังได้อนุเคราะห์พื้นที่ของวัดเพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนวัดกลางใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 มาจวบจนปัจจุบัน

ในปี 2550 ได้ขอพระบรมราชานุญาตสร้างโบสถ์วัดกลางใหม่ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 6 เดือน ที่สำคัญโบสถ์หลังนี้เป็นโบสถ์สีขาวทั้งหลังแห่งเดียวในเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี

หน้าบันของโบสถ์มีการอัญเชิญตราสัญลักษณ์ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 9 มิถุนายน 2550” มาประดิษฐานไว้ด้วย

เสร็จแล้วต้องไม่ลืมไปชมพิพิธภัณฑ์เรือแข่งของเมืองคนดี ที่ได้รวบรวมเรื่องราวเรือแข่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีไว้ให้เยี่ยมชมอีกด้วย

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้พระประธานในโบสถ์ ให้ชีวิตบริสุทธิ์สดใส

ที่ตั้ง : ถนนศรีวิชัยใกล้กับโรงพยาบาลศรีวิชัย

15 ศาลหลักเมือง

15ศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี

ศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อมาถึงเมืองคนดี สุราษฎร์ธานีแล้ว ศาลหลักเมือง เป็นสถานที่หนึ่งที่ผู้คนที่มาเยือนจะต้องกราบไหว้ขอพร

ศาลหลักเมืองแห่งนี้สร้างขึ้น เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชสักการะและเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539

องค์พ่อหลักเมืองแกะสลักจากไม้ราชพฤกษ์ลงรักปิดทองเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่หน้า หันพระพักตร์ไปทั้งสี่ทิศเหมือนการแกะสลักพระพรหมสี่หน้าไว้ตามยอดหลักเมืองทั่วไปอย่างสวยงาม ชาวบ้านนิยมนำไข่ต้มมาแก้บนหลังจากที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา

ศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี มีความโดดเด่นมาก เพราะตั้งอยู่ใจกลางเมืองใกล้กับแม่น้ำตาปี การเดินทางไปมาสะดวก ทั้งผู้คนที่สัญจรไปมาและชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่จะเดินทางมาสักการะด้วย

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้ขอพรจากพ่อหลักเมืองให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและเจริญในหน้าที่การงาน

ที่ตั้ง : ถนนตลาดใหม่ ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำตาปี

16 พระโพธิสัตว์กวนอิม

16พระโพธิสัตว์กวนอิม

พระโพธิสัตว์กวนอิม มูลนิธิมุทิตาจิตธรรมสถาน เม่งเหมียวเซี่ยงตั้ว หรือ มูลนิธิมุทิตาจิตธรรมสถาน ก่อตั้งมาไม่ต่ำกว่า 55 ปี มีองค์เทพเจ้าโป๊ยเซียนเป็นองค์ประธาน

ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่ของมูลนิธิออกเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิ และได้รับบัญชาจากองค์เทพเจ้าโป๊ยเซียนให้จัดสร้างเทวสถานดาวนพเคราะห์ (เก้าแชเต้ง) และองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม

ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า ทำให้มีทุนทรัพย์ในการจัดสร้างองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมจากทั่วทุกสารทิศ โดยใช้ทุนทรัพย์ในการจัดสร้างถึง 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาท)

องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม แกะสลักจากหินแกรนิตขาวทั้งองค์จากประเทศจีน สูงที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น มีความสูง 12 เมตร ใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 5 ปี สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คณะศรัทธาผู้ร่วมจัดสร้างและชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นอย่างมาก

เสร็จจากไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมแล้วตรงข้ามมูลนิธิมีร้านอาหารเจ เจ้ต้อมเจ้เล็ก ที่เปิดบริการอาหารเจกันทั้งปี และในยามเย็นบริเวณใกล้เคียงกันจะมีตลาดมิตรเกษมที่ขายอาหารมากมายรอทุกท่านอยู่

กิจกรรรมห้ามพลาด : ไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมขอพรให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข

ที่ตั้ง : ถนนหน้าเมืองเยื้องห้างโคลีเซียม

17 ศาลเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ

17ศาลเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ

ศาลเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ สุราษฎร์ธานี “เสด็จเตี่ย” หรือ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาโหมด

จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการริ่เริ่มของกลุ่มดอกประดู่ ข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญและทหารนอกประจำการจะจัดตั้งศาลเสด็จเตี่ยเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้ดำเนินการเช่าพระรูปจำลองขนาดสูง 198 เซ็นติเมตร จากกองทัพเรือมาประดิษฐานไว้เป็นการชั่วคราว ณ สะพานนริศ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2542

ต่อมาได้มีการขอใช้ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์บริเวณปากน้ำบ้านดอน เพื่อสร้างศาลเสด็จเตี่ย และได้อัญเชิญพระรูปจำลองมาประดิษฐานเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 จนมาถึงปัจจุบัน

โดยจะมีพิธีสำคัญปีละ 2 ครั้ง ในวันอาภากร ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี ที่เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์และวันอาภากรรำลึก ตรงกับวันที่ 19 ธันวาคม ที่เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์

กิจกรรมห้ามพลาด : ไหว้เสด็จเตี่ยขอบารมีท่านช่วยคุ้มครอง

ที่ตั้ง : ปากน้ำบ้านดอน สุดถนนสาย 4078

18 พระธาตุศรีสุราษฎร์

18พระธาตุศรีสุราษฎร์

พระธาตุศรีสุราษฎร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง พระธาตุศรีสุราษฎร์ เป็นปูชนียสถานที่ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจจัดสร้างขึ้น ตั้งอยู่บนยอดเขาท่าเพชร เริ่มก่อสร้างองค์พระธาตุเมื่อ พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่แผ่นดินและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง การดำเนินการก่อสร้างเริ่มต้นเรื่อยมา จนแล้วเสร็จในปีถัดมาและได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในวันที่ 2 มิถุนายน 2501 เวลา 10.05 น.

ปี 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จประพาสภาคใต้โดยทางรถไฟ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นครั้งแรก และในวันที่ 27 มีนาคม 2502 ก็ได้ทรงเสด็จฯ ขึ้นไปนมัสการพระธาตุศรีสุราษฎร์ ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้บนแผ่นศิลา และทรงปลูกต้นพะยอมไว้ที่ลานพระเจดีย์ พระองค์ละ 1 ต้น

ต่อมาพระธาตุศรีสุราษฎร์ได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อเป็นสิริมงคล จึงได้มีคำเติมท้ายเป็นสิริมงคลยิ่งว่า “พระธาตุศรีสุราษฎร์ในพระบรมราชูปถัมภ์” เป็นต้นมา

กิจกรรมห้ามพลาด : ขอพรพระธาตุศรีสุราษฎร์ และธรรมชาติเขาท่าเพชร และชมทัศนียภาพเมืองสุราษฎร์ธานี

ที่ตั้ง : ยอดเขาท่าเพชร ถนนชนเกษม ทางไป อ. บ้านนาสาร

ดูแผนที่เมืองสุราษฎร์ธานี คลิกเลย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานสุราษฎร์ธานี

ที่อยู่ : 5 ถ. ตลาดใหม่ ต. ตลาด อ. เมือง จ. สุราษฎร์ธานี 84000

เบอร์โทร : 0 7728 8817 – 9

ภาพประกอบจาก : t-globe, thetrippacker

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ไหว้พระ เที่ยววัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร จ. สุราษฎร์ธานี